นายรังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้พื้นที่ทั่วประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้แล้ว แต่ยังมีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) บางพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่จำนวน 23 แห่ง อาทิ
โรงเรียนบ้านหมากพริก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โรงเรียนบ้านห้วยปมผาด อ.เมืองจ.แม่ฮ่องสอน โรงเรียนบ้านกะริคี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่อ่องสอน โรงเรียนบ้านน้ำปลามุง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โรงเรียนบ้านพุม่วง อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ โรงเรียนบ้านท่าสัก สาขาเต่าไหใต้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ โรงเรียนบ้านปงหัวทุ่ง อ.เสริมงาม จ.ลำปาง เป็นต้น
โดยโรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล กันดาร ตั้งอยู่บนเกาะ
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสพฐ.ได้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ และได้ประสานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา แต่เมื่อมีการมาสำรวจพื้นที่ก็ไม่สามารถดำเนินการปักพาดเสาไฟฟ้าไปยังโรงเรียนเหล่านั้นได้ เนื่องจากต้องลงทุนสูงและบางพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้
เพราะอยู่ในพื้นที่ไกลมาก ดังนั้นจึงทำให้สพฐ.ต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่นทดแทน อาทิ การใช้เครื่องปั่นไฟ การใช้แผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าเพื่อให้โรงเรียนมีไฟฟ้าใช้เพื่อกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างการใช้คอมพิวเตอร์การเปิดโทรทัศน์เพื่อการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นต้น
"การที่โรงเรียนเหล่านั้น ไม่มีไฟฟ้าใช้ ถือว่ามีความลำบาก ไม่สะดวกสบายเหมือนนักเรียนในโรงเรียนทั่วไป อีกทั้งยังทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนได้ แม้ว่าโรงเรียนจะได้รับการช่วยเหลือด้วยการติดตั้งเครื่องปั่นไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ แต่ก็มีข้อจำกัดในระยะเวลาของไฟฟ้าที่ใช้ได้ไม่นาน ทำให้ต้องมีการชาร์ตไฟเพื่อเก็บไว้ในแบตเตอรี่สำรองในตอนกลางคืนและกลางวัน" นายรังสรรค์ กล่าว
นายสังสรรค์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ สพฐ.กำลังจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กไทย โดยจะทำโครงการรัฐร่วมเอกชนในการลงทุนเพื่อการศึกษา (Public Private Partnership)ในเรื่องการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบไฟฟ้า ประปา รวมไปถึงการให้บริการเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
โดยภาคเอกชนจะลงทุนในเรื่องต่างๆ ตามที่ สพฐ.ต้องการด้วยการออกทุนทรัพย์ให้ก่อน และสพฐ.จะใช้เงินงบประมาณผ่อนชำระเป็นรายปีตามสัญญา จะช่วยให้โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การ
ศึกษา(สพท.)ทุกแห่ง มีอาคารสถานที่ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ไฟฟ้า ประปา สภาพใหม่พร้อมใช้ที่พอเพียงเหมือนๆ กันทั่วประเทศ ทั้งนี้สามารถทำได้เป็นครั้งแรกเนื่องจากเพิ่งมีกฎหมายจากกระทรวงการคลังมารองรับ
"ที่ผ่านมาการร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐเกิดขึ้นภาคส่วนต่างๆอาทิ การสร้างรถไฟฟ้า การสร้างทางด่วน เป็นต้น แต่ในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลโรงเรียนว่าจะดำเนินการโครงการใดบ้างเพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา โดยคาดว่าจะเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของวงการศึกษาไทย" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น