ดูหนังออนไลน์ ละครย้อนหลัง หนังใหม่เข้าโรง
วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558
ทะเลบัน บ้านที่สันกาลาคีรี ผืนป่าอันสมบูรณ์ ทะเลบัน ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ครอบคลุมเนื้อที่ 122,500 ไร่ ในเขตอำเภอควนโดนและอำเภอเมืองฯ จังหวัดสตูล
ทะเลบัน บ้านที่สันกาลาคีรี ผืนป่าอันสมบูรณ์
ทะเลบันบ้านที่สันกาลาคีรี (อ.ส.ท.)
ธเนศ งามสม...เรื่องและภาพ
1. เสียงนกเงือกหัวแรดกังวานมาจากยอดไม้ยามอยู่ในแวดล้อมป่าดิบเช่นนี้ เสียงดังกล่าวยิ่งก้องกังวานให้อารมณ์รับรู้จับใจ ผมอยู่ห่างจากบ้านกว่า 1,000 กิโลเมตร ยืนอยู่ริมบึงน้ำที่คนถิ่นนี้เรียกว่า "ทะเลบัน" ฟังเสียงนกเงือกหัวแรดในบ้านของพวกเขา...บ้านแห่งทิวเขาสันกาลาคีรี
กล่าวสำหรับนกเงือกหัวแรด พวกเขาคือ 1 ในนกเงือกจำนวน 13 ชนิด ในบ้านเรา ด้วยความอุดมสมบูรณ์ที่นี่ปรากฏพวกเขาอาศัยอยู่ถึง 8 ชนิด คือ นกเงือกหัวหงอก นกชนหิน นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกกก นกเงือกปากดำ นกเงือกปากย่น และเจ้าของเสียงร้องกังวานก้อง
กล่าวสำหรับสันกาลาคีรี ทิวเขาเสมือนพรมแดนไทย-มาเลเซียนี้อุดมด้วยป่าดิบถิ่นใต้ ทอดยาวตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส ยะลา สงขลา มาจดทะเลอันดามัน นับเป็นป่าดิบสมบูรณ์แห่งหนึ่งในภาคใต้ ผืนป่าซึ่งยังมีพืชและสัตว์ "หลงสำรวจ" อีกมากหลาย รวมถึงเป็นบ้านของ "ซาไก" ชนเผ่าผู้เกิดและใช้ชีวิตในป่ามาแต่ดึกดำบรรพ์
สิ้นเสียงนกเงือกหัวแรดราวป่าเบื้องล่างก็กังวานด้วยสรรพเสียงนานา ทั้งฝูงชะนีกู่ร้อง เสียงนกเล็ก ๆ หวานใสมาจากป่าหวาย ซึ่งแคลุมรอบ ๆ บึงน้ำอันกว้างใหญ่ ผมเดินตามสะพานไม้ซึ่งยื่นออกไป ก็พบฝูงลิงแสมลงมาหาอาหารด้วยขนาด 125 ไร่ แวดล้อมด้วยป่าดิบและภูเขา มันจึงเป็นบ้านอันอุดมและปลอดภัย ย้อนเวลากลับไปเหนือบึงน้ำนี้เคยเป็นภูเขาหินปูนผุดโผล่ เล่าต่อกันว่า เมื่อราว 300 ปีก่อน เกิดแผ่นดินสะเทือนครั้งใหญ่ มีเสียงดังครั่นครืนนานแรมเดือน แล้วภูเขาทั้งลูกก็ทลายลง คนท้องถิ่นเรียกปรากฏการณ์นั้นในภาษาลายูว่า "เลอโอ๊ด กะบัน" อันหมายถึงแผ่นดินยุบลงไป จากนั้นน้ำก็ไหลรี่เข้าท่วม แผ่นดินยุบกลายเป็นบึงน้ำใหญ่ ชื่อก็กร่อนกลายเป็น "ทะเลบัน" ในเวลาต่อมา
ผมอยู่ห่างจากบ้านกว่า 1,000 กิโลเมตร พักอยู่ที่นี่ร่วมสัปดาห์แล้ว ทว่าไม่เคยเงียบเหงาว่างเปล่า ยิ่งในยามเช้าบึงน้ำสะท้อนภาพรอบตัวลงมา ราวกับเรือนยอดไม้แน่นทึบเลื่อนลงมาใกล้ ทิวเขาสันกาลาคีรีปรากฏชัดอยู่ตรงหน้า
2. บ้านพักของเราอยู่ริมบึงน้ำ ในยามเช้าสายหมอกลอยเรี่ย อากาศเย็นชื่น ขณะยามค่ำ "เขียดว้าก" ซึ่งพบเฉพาะถิ่นนี้ จะส่งเสียงร้องก้องประสานราวกับมีงานรื่นเริงในหุบเขา รอบ ๆ บึงน้ำคือป่าดิบสมบูรณ์ ลำธารที่ไหลสู่บึงน้ำก็เกิดจากซอกเขาใกล้ ๆ ถัดไปอีกฟากภูเขา ลำธารสายเล็กสายน้อยก็กำเนิดน้ำตกสูงใหญ่
ยาโรย คือ หนึ่งในน้ำตกเหล่านั้น สายน้ำไหลโจนลดหลั่นมาจากยอดเขา จากชั้น 4 ซึ่งโจนตกจากหน้าผา ลำธารค่อย ๆ ไหลรี่แล้วโจนจากผาหินสูง 15 เมตร ลงมาเป็นชั้น 3 บ่ายวันหนึ่งผมเดินทวนน้ำขึ้นไป ที่ชั้นแรกมีผู้คนเข้ามาหย่อนใจหนาตา ด้วยแอ่งน้ำกว้าง ใสสะอาด รอบ ๆ เป็นลานหินกว้างน่านั่ง จากชั้นแรกรอยทางเล็ก ๆ เลียบขึ้นไหล่เขา ยาโรยชั้น 2 ปรากฏท่ามกลางหมู่ไม้ สายน้ำไหลพาดลงไป ดั่งผืนผ้าขาวนวลพาดตามลาดหินลดหลั่น ข้างธารน้ำมีต้นไทรแผ่ใบร่มรื่น ตามกิ่งก้านดกดื่นอยู่ด้วยลูกสุก ฝูงนกนานาจึงแวะเวียนมาไม่ขาด ทั้งนกเขาเปล้าสีนวลตา นกโพระดกคางแดงซึ่งมีแต้มสีแดงสด และนกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าซึ่งน่าชมด้วยสีฟ้าสดใส
ตะวันค่อย ๆ คล้อยและยอดเขา ลมเย็นชื่นพัดลูบไล้เนื้อตัว เสียงนกยังร้องแว่วอยู่บนต้นไทร ผมเดินเลาะลำธารเย็นใสขึ้นไป นกกางเขนน้ำหัวขาวปรากฏบนโขดหินเบื้องหน้า ลำตัวขาวสะอาดคาดดำช่างโดดเด่น มันส่งเสียงเล็กแหลมแล้วบินทวนน้ำหายลับไป เสียงหวานใสนั้นทำให้ผมนึกถึงผืนป่าอื่น ๆ ที่เคยไปเยือน ครั้งหนึ่งในผืนป่าจังหวัดบ้านเกิด ผมเดินตามเสียงหวานใสนั้นไปครู่หนึ่งก็พบพวกเขาเกาะนิ่งบนโขดหินกลางน้ำ
กล่าวสำหรับนกกางเขนน้ำ ในบ้านเรามีพวกเขาทั้งหมด 4 ชนิด อาศัยเฉพาะในป่าดิบเขาสูงตั้งแต่ 400-800 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง กล่าวได้ว่าทุกลำธารที่พบพวกเขานั้นล้วนอุดมสมบูรณ์ ใสสะอาด และปลอดภัย
ผมเดินทวนน้ำขึ้นไปถึงยาโรยชั้น 3 ก็พบเขาอีกครั้งขณะแนบตากับช่องมองภาพ ลำตัวขาวดำนั้นสะท้อนเงาลงบนผืนน้ำงดงามจับตา โมงยามนั้นผมคล้ายได้กลับไปเยือนบ้านเกิดที่จากมา
3. วังประ คือ ทุ่งหญ้ากว้างในหุบเขา เราเข้าไปเยือนที่นั่นเพราะเรื่องเล่าหลากหลาย
"แต่ก่อนจะดูนกเงือกไม่ต้องขึ้นภูเขา รอบ ๆ ทุ่งวังประเห็นได้ง่าย ๆ แม้แต่นกชนหินที่หาดูยากก็เห็นริมชายทุ่ง" ใครบางคนเริ่มต้นเรื่องเล่า
จากทะเลบันเราใช้ทางตรวจการณ์เดินทางลึกเข้าไป สองข้างทางปรากฏทิวเขาหินปูนสูงตระหง่าน ป่าดิบแผ่เรือนยอดแน่นทึบราวกับใจหัวกะหล่ำปลี ขณะต่ำลงมาสวนยางพาราเริ่มรุกเข้าครอบครอง
"สิบปีก่อนข้างทางยังเป็นป่าดิบอยู่เลย ตั้งแต่น้ำยางแพง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องเหนื่อยหนัก คอยระวังพวกถางป่าปลูกยางพารา" ชายซึ่งผมเรียกอย่างเคารพว่า "บัง" เล่าน้ำเสียงเรียบเรื่อย สวนยางพาราปรากฏแทรกในป่าดิบตรงโน้นตรงนี้
ทางลูกรังทอดลึกเข้าไปสู่ใจกลางป่า แม้จะล่วงสู่ฤดูแล้งทว่าทางยังเต็มไปด้วยหล่มโคลน ร่องลึก เพราะป่าดิบแน่นทึบ เรือนยอดสอดสานจนแดดยากจะส่องถึงได้ง่าย ๆ ใช้เวลากว่าชั่วโมงเราจึงมาถึงหน่วยฯ ทุ่งวังประ ที่ทำการหน่วยฯ ตั้งอยู่โดดเดี่ยวแวดล้อมด้วยไม้ป่าน้อยใหญ่ จากหน่วยฯ เราเดินตามรอยทางเล็ก ๆ ไปยังทิศใต้ บุกป่าซึ่งเต็มด้วยหวายและพรรณไม้มีหนามแหลม ฝ่าป่าพรุอับชื้น ข้ามลำห้วยสีเขียวใส จึงไปถึงใจกลางทุ่งวังประ
กลางทุ่งหญ้ากว้างผมย่อตัวดูรอยตีนหมูป่าใหม่ ๆ ขณะไกลออกไปรอบตัว คือ ทิวเขาสีครามลดหลั่น เสียงชะนีร้องดังกังวานไปทั่ว
"ผมเคยเห็นฝูงกวางออกมาเล็มหญ้า นกเงือกหัวแรดบินเหนือทุ่งหญ้า นกหว้าก็เคยเห็นในทุ่งนี้ล่ะ" บังเล่าพลางกวาดสายตาไปยังทิวเขาสีคราม
ลมเย็นโบกโบย ทุ่งหญ้าพลิ้วไหว กลิ่นดอกไม้ป่าลอยมาจาง ๆ ผมจินตนาการถึงสมเสร็จ สัตว์สงวน 1 ใน 15 ชนิดของบ้านเราค่อย ๆ เดินลงมากินโป่งในทุ่งหญ้า
"ผมไม่เห็นเขานานหลายปีแล้ว ได้ยินว่าพวกปลูกยางพาราเข้ามาถึงที่นี่ฝูงกวางก็หายไป เจ้าหน้าที่มีเพียงหยิบมือ แต่ผืนป่ามันกว้าง" บังเล่าพลางเหม่อมองทุ่งหญ้า
"สมัยรุ่นปู่เคยมีกระซู่อยู่ในป่านี้ด้วย มีปลักที่พวกเขาลงมาใช้ประจำ ช้าง เสือก็เคยมี ปู่เล่าว่าวันหนึ่งมันลงมาจากภูเขา วันนั้นคนในหมู่บ้านไม่เป็นอันทำอะไร ผู้ชายทุกคนในมือถือปืน"
ห่างจากที่นี่ไปแสนไกล ข้างกองไฟในยามค่ำคืนเรื่องเล่าเช่นนี้ผมเคยได้ฟังมาบ้าง ดูเหมือนระยะทางจะไม่ทำให้คำว่าบ้านนั้นแตกต่าง อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงก็ดูคล้ายจะหลีกเลี่ยงไม่พ้น
4. จากผืนแผ่นดินใหญ่ เราเดินทางตามทิวเขาสันกาลาคีรีไปยังทิศตะวันตก ที่ซึ่งป่าดิบค่อย ๆ แผ่เรือนยอดหนาแน่นลงไปจดป่าชายเลน บรรจบท้องทะเลอันดามัน
ที่ท่าเรือตำมะลัง เรือตรวจการณ์ลำเล็กพาเราบ่ายหน้าออกทะเลผ่านเกาะปูยู ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านปูยู ตามเรือนที่ปลูกยื่นลงมามีเรือจอดเรียงรายใกล้ ๆ กันเป็นกระชังเลี้ยงปลา รายได้ซึ่งช่วยจุนเจือในฤดูมรสุมยามไม่สามารถออกเรือได้ คล้อยจากเกาะปูยูเรือบ่ายหน้าเข้าไปในป่าโกงกาง ปรากฏคลองสายเล็กสายน้อย คล้ายรากไม้ซอกซอนลึกเข้าไปในผืนแผ่นดิน ฝูงลิงแสมโจนได้ไปตามยอดไม้ บ้างเพลินกับลูกลำแพนโดยไม่ใส่ใจสิ่งใด ขณะบนหาดทรายฝูงนากทะเลนอนเกลือกกลิ้งผึ่งแดดสบายใจ
"สมบูรณ์เหลือเกิน" ในบางคนเอ่ย ผมพยักหน้าเห็นคล้อย ก่อนลงเรือเราก็ได้รู้ว่าป่าโกงกางที่นี่สมบูรณ์เพียงใด
"ลองชิมดูค่ะ โกงกางใบใหญ่ใส่กุ้งชุบแป้งทอด" หญิงสาวประจำศูนย์วิจัยป่าชายเลนสตูลเอ่ยเชื้อเชิญ นอกจากกุ้งรสมันหอม เธอยังช่วยอธิบายพรรณไม้ต่าง ๆ ในป่าชายเลน เช่น เป้งทะเล เหมือนยอดมะพร้าวอ่อน แกงส้มกุ้งอร่อย ลูกจากทำขนมหวานได้ แกงคั่วก็ได้ เหงือกปลาหมอเป็นยาสมุนไพร แก้ปวดฟัน ปวดเมื่อย แก้ไอ ลูกลำแพนที่ลิงชอบกินนั้นจิ้มน้ำพริกอร่อยนัก
ยิ่งแล่นเรือลึกเข้าไป ต้นโกงกางยิ่งดูแน่นทึบ สูงใหญ่ แผ่เรือนยอดกว้างไกลไม่ต่างจากป่าดิบรอบ ๆ ทะเลบัน นายท้ายบ่ายหัวเรือเข้าคลองสายย่อย ราวกับเราค่อย ๆ หลุดเข้าไปในหุบเขาหลงสำรวจ รอบตัวโอบล้อมด้วยทิวเขาหินปูนสูงตระหง่าน บ้างตัดชันเป็นหน้าผา บ้างผุดโผล่ยืนทะมึนราวผู้พิทักษ์ เหยี่ยวแดงแผ่ปีกกว้างปืนร่อนอย่างอิสรเสรี ใต้ทิวเขาซึ่งดูราวกำแพงโบราณกั้นขวาง ถ้ำลอดปูยูปรากฏอย่างตรงนั้น มองเห็นป่าโกงกางราง ๆ ผ่านโพรงถ้ำไปยังอีกฟาก
ตรงหน้ากำแพงโบราณ ผมเปลี่ยนจากเรือไฟเบอร์กลาสเป็นเรือคายัก ค่อย ๆ พายลอดเข้าไปราวกับหลุดเข้าไปในโลกอีกใบ โลกซึ่งน้ำเป็นสีเขียวใส สรรพสิ่งเงียบสงัด ป่าโกงกางแผ่นเรือนยอดออกไปจดโค้งขอบฟ้า
5. ตะวันค่อย ๆ คล้อยลงต่ำ ฝูงนกแอ่นบ้านบ่ายหน้าไปทางทิศใต้ ระหว่างทางกลับทำเรือตำมะลัง ผมหันไปมองข้างหลัง ทิวเขาสันกาลาคีรีทอดยาวเป็นเส้นสีครามสุดสายตา ขณะเบื้องหน้าเกาะน้อยใหญ่ผุดอยู่ในทะเลอันดามัน นั่นเกาะยาว ถัดไปราง ๆ คือเกาะลังกาวี เขตประเทศมาเลเซีย
เราสวนกับเรือหางยาวหลายลำ มีทั้งบ่ายหน้าออกทะเลและกลับคืนฝั่ง ในเรือมีผู้คนเต็มลำ พวกเขาแต่งกายอย่างชาวมุสลิมผู้เคร่งครัดหญิงสาวคลุมฮิญาบมิดชิด ชายหนุ่มนุ่งโสร่ง สวมเสื้อแขนยาวขาวสะอาดรอยยิ้มระบายใบหน้าเมื่อเรายิ้มทักทาย
ผมจากบ้านมาไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร ทว่าความแปลกแยกเปลี่ยวเหงาไม่เคยผุดเข้ามารบกวนจิตใจ ทั้งรอยยิ้ม เรื่องเล่าบางเรื่องช่างคล้ายเคยฟังข้าง ๆ กองไฟในวัยเด็ก อาจเป็นเพราะคำว่าบ้านนั้นมีความหมายดุจเดียวกัน กระทั่งระยะทาง ความห่างไกล หรือแม้แต่เส้นพรมแดนทางเชื้อชาติก็ไม่อาจแบ่งกั้น
ขอขอบคุณ
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ศูนย์วิจัยป่าชายเลนสตูล สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 34 และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ซึ่งช่วยเหลือด้วยน้ำใจ
คู่มือนักเดินทาง
ทะเลบัน ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ครอบคลุมเนื้อที่ 122,500 ไร่ ในเขตอำเภอควนโดนและอำเภอเมืองฯ จังหวัดสตูล
อุทยานฯ ปกคลุมด้วยป่าดิบสมบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตภูเขา ซึ่งส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรีที่ทอดยาวตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส ยะลา สงขลา สตูล จดทะเลอันดามัน เสมือนพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทย-มาเลเซีย โดยมียอดเขายูลูติติบาซาห์ (Ulutiti Basah) ที่สูง 1,533 เมตร จากระดับทะเลบ้านกลาง เป็นจุดสูงสุดในอุทยานฯ มีจุดน่าเที่ยวชมหลากหลาย เช่น ทะเลบัน บึงน้ำกว้าง 125 ไร่ น้ำตกยาโรย ทุ่งวังประซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และถ้ำลอดปูยูในป่าโกงกางน่าชม
การเดินทาง
อุทยานฯ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองสตูล 19 กิโลเมตร ถึงแยกควนสะตอเลี้ยวขวา ใช้ทางหลวงหมายเลข 4184 เข้าที่ทำการอุทยานฯ 19 กิโลเมตร
บริษัทขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทาง กรุงเทพฯ-สตูล ให้บริการทุกวัน รถปรับอากาศชั้น 1 (24 ที่นั่ง) มีเที่ยวเวลา 18.00 น. รถปรับอากาศสองชั้น กรุงเทพฯ-ตรัง-สตูล (50 ที่นั่ง) มีเที่ยวเวลา 07.00 น. และ 18.30 น. รถปรับอากาศสองชั้นกรุงเทพฯ-สตูล (50 ที่นั่ง) มีเที่ยวเวลา 18.35 น. โทรศัพท์ 0 2894 6122
จากสถานีขนส่งหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีรถโดยสารประจำทางหาดใหญ่-สตูล ออกทุก 15 นาที เวลา 06.00-18.30 น. รถตู้โดยสารออกทุกชั่วโมง เวลา 06.00-19.00 น.
จากตัวเมืองสตูล มีรถสองแถวสายสตูล-วังประจัน ผ่านที่ทำการอุทยานฯ
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
อุทยานแห่งชาติทะเลบันมีบ้านพัก 7 หลัง จุได้ราว 70 คน (จองผ่านออนไลน์) และมีลานกางเต็นท์ให้บริการ
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง
ด่านพรมแดนวังประจัน อยู่ห่างที่ทำการอุทยานฯ 2 กิโลเมตร มีตลาดขายสินค้า สามารถข้ามไปซื้อของปลอดภาษีและชมตลาดในเขตรัฐเปอร์ลิส (Peris) ของมาเลเซียได้โดยไม่ต้องทำบัตรผ่านแดน ไม่ต้องยื่นหนังสือเดินทาง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน หมู่ที่ 4 ถนนสมันกรัฐบุรินทร์ ตำบลวังประจัน อำเภอควนโคน จังหวัดสตูล 91160 โทรศัพท์ 08 3533 1710
แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 55 ฉบับที่ 2 กันยายน 2557
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น